ข่าว

โทษของโฟมและพลาสติก

โทษของการใช้โฟม

ทราบหรือไม่ว่า กล่องโฟมผลิตจากของเสียเหลือทิ้งจากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากพลาสติกประเภทพอลีสไตรีน ซึ่งเป็นสารที่สารที่อยู่ในพลาสติกและโฟม ถ้าถูกนำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจัด และอาหารทอดที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ จะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้สารอันตรายแตกตัวออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ได้แก่ สารเบนซีน ที่หากดื่ม หรือกินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูงจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ส่วนที่เป็นอันตรายที่สุด คือ “สารสไตรีน” ที่มีพิษทำลายไขกระดูก ตับ และไต ทำให้ความจำเสื่อม

มีผลต่อการเต้นของหัวใจ สารสไตรีนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม, มะเร็งตับ, มะเร็งต่อมลูกหมาก, ประจำเดือนมาไม่ปรกติ,สมองเสื่อมง่าย,หงุดหงิดง่าย,สมองมึนงง โดยอาจก่อให้เกิดมะเร็งเส้นเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วย ถ้ารับประทานอาหารกล่องโฟมทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า ที่สำคัญกล่องโฟมทนความร้อนได้เพียง 70 องศาเซลเซียส แต่สิ่งที่เราทานกันเป็นประจำ เช่น ข้าวผัด หรือผัดกะเพรา เป็นต้น ล้วนมีความร้อนเกินมาตรฐานกำหนด ส่งผลให้สารอันตรายปนเปื้อนออกมากับอาหารในปริมาณสูง ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสารสไตรีนในกล่องโฟมได้ คือ ถ้าอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลงทำให้สไตรีนซึมเข้าสู่อาหารได้สูง หากปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสายชู แอลกอฮอล์ จะดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ รวมไปถึงเวลาที่ชื้ออาหารใส่กล่องทิ้งไว้นาน ๆ ไม่ได้รับประทาน อาหารจะดูดสารสไตรีนได้มาก และที่สำคัญถ้านำอาหารที่บรรจุในกล่องโฟมเข้าไมโครเวฟ สารสไตรีนจะไหลออกมาในปริมาณมาก

“พอลีสไตรีน” ที่เห็นได้ชัดและแทบจะเรียกได้ว่าสัมผัสกันอยู่ทุกวันในปัจุบันคือกล่องโฟมที่เรานิยมใส่อาหารนั่นเอง ซึ่งโฟมเหล่านี้แม้จะมีประโยชน์มาก แต่โทษก็มีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะต่อสิ่งแวดล้อมและยากต่อการกำจัด ฝังดินก็ย่อยสลายช้า หล่นลงไปในแม่น้ำลำคลองก็จะอุดตันและย่อยสลายช้าเช่นกัน ที่สำคัญเมื่อเผาไฟก็จะเกิดมลภาวะทางอากาศ

ภาชนะที่ใช้ทดแทนพลาสติกและโฟมได้คือ ชานอ้อย, ใบตอง, พลาสติกไบโอ เป็นต้น

โทษของการใช้ถุงพลาสติก

พลาสติกถือเป็นวัสดุที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าหรือครัวเรือน รวมถึงของกินของใช้ในยุคปัจจุบัน ล้วนทำจากพลาสติกทั้งสิ้น และเหตุนี้จึงทำให้พลาสติกกลายเป็นขยะที่มีปริมาณมากและแพร่หลายอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายด้วยตัวเองเนื่องจากเป็นสารสังเคราะห์ และเป็นวัสดุที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดในทุก ๆ วันทั่วโลก โดยเฉลี่ยถุงพลาสติกจะเป็นขยะที่มีปริมาณมากที่สุด รองลงมาจะเป็นหลอดเครื่องดื่ม ฝาพลาสติก และภาชนะบรรจุอาหาร ซึ่งจากปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก หลายคนจึงหาวิธีกำจัดซึ่งหารู้ไม่ว่าวิธีเหล่านั้นอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้และวิธีนั้นคือ การเผาพลาสติก
การเผาพลาสติกไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น เพราะโดยรวมการเผาพลาสติกจะยิ่งทำให้เกิดสารพิษในชั้นบรรยากาศจากส่วนประกอบของพลาสติก อาจนำไปสู่การปนเปื้อนของแหล่งน้ำ แหล่งดิน รวมไปถึงอาหารการกิน ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับสารพิษจากการสูดดม ดื่มน้ำ และทานอาหารที่มีสารปนเปื้อน

ในแต่ละสัปดาห์ คนไทยนำถุงพลาสติกกลับบ้านมากกว่า 100 ล้านถุง หรือมากกว่า 5000 ล้านถุง
ในแต่ละปี การนำถุงพลาสติกไปใช้ซ้ำอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างมากโดยเฉพาะการใช้ถุงพลาสติกใส่มูลฝอยจะทำให้เกิดการแปรสภาพมูลฝอยในภาวะที่ขาดอากาศเป็นผลให้เกิดก๊าซชีวภาพที่เป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะเรือนกระจก และทำให้โลกร้อนถุงพลาสติกที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ทำให้เกิดปัญหาที่สำคัญดังนี้
• การเสื่อมโทรมของดิน
• การเสื่อมคุณภาพของน้ำ
• เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำและบนบก
• เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดชีวภาพที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ
• ให้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกเผา
• ทำให้เกิดการอุดตันในทางระบายน้ำ และทำให้เกิดน้ำท่วม
• เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ
• เป็นต้นเหตุของการเพาะพันธุ์และแพร่กระจายของพาหะนำโรคและการแพร่ระบาดของโรคร้ายหลายชนิด
• เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุของการเดินทางทั้งทางบก และทางน้ำและทางอากาศ

ถุงพลาสติกเป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากเพราะย่อยสลายได้ยาก ใช้เวลาเป็นร้อยๆปี วิธีการกำจัดถุงพลาสติกนั้น มีอยู่ 2 วิธี คือ
1.ฝัง :
การฝังต้องใช้พื้นที่มากและพื้นที่นั้นก็จะทำการเกษตรไม่ได้อีกเลย เพราะถุงพลาสติกนั้นไม่ สามารถย่อยสลายได้เองหรืออาจต้องใช่เวลาเป็นร้อยๆปี

2.เผา : การเผานี้ถ้าเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก็จะมีก๊าซพิษออกมาด้วย แต่แม้ว่าจะเผาไหม้ สมบูรณ์ก็จะมีก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นก๊าซเรือนกระจก มีคุณสมบัติอมความร้อน ไปปกคลุมอยู่รอบโลก ทำให้โลกร้อนขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเผาไหม้ก็ไม่มีทางที่จะสมบูรณ์ 100% ได้ ทำให้มีทั้งก๊าซพิษ และเกิดก๊าซเรือนกระจก

จะกำจัดอย่างไรก็ตามก็เกิดผลเสียทั้งนั้น พวกเราต้องช่วยกัน ลด งด ใช้ถุงพลาสติก โดยการ
1.ใช้ถุงผ้า หรือนำภาชนะไปใส่ของแทน แล้วก็พูดว่า “ไม่ต้องใส่ถุงก็ได้ ” ตัวอย่างเช่น จะไปตลาดก็นำกระเป๋าผ้าและกล่องใส่อาหารไปใส่ของแทน ไปซื้อกับข้าวก็นำปิ่นโตไปแทนไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกทุกชนิด
2.ใช้ถุงกระดาษ อย่างเมืองนอกเวลาเราดูหนัง เขาซื้อของกลับมาบ้าน อุ้มถุงกระดาษเข้ามา ก็เพราะเขาไม่ต้องการใช้ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยากนั้นเอง ใช้ถุงกระดาษก็ยังดีกว่า อันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากพ่อค้า แม่ค้า และห้างใหญ่ๆด้วย
3.ใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ ถุงแบบนี้ความจริงมีมานานแล้ว ถุงพลาสติกแบบนี้จะผสมสารย่อยสลาย ซึ่งก็จะแทรกตัวอยู่ในโมเลกุลของเม็ดพลาสติก สารย่อยสลายนี้เมื่อเจอกับแสงแดดก็จะทำปฏิกิริยากับเม็ดพลาสติก ให้โมเลกุลแตกสลาย ถุงแบบนี้จะใช้เวลา 1 ปีในการย่อยสลาย โดยจะเห็นได้ว่า ความเหนียวของถุง จะลดลงเรื่อยๆ จนไม่เหลือเลย

ถ้าถามว่า “ลดใช้ถุงพลาสติกเกี่ยวอะไรกับโลกร้อน” และเราคนเดียว ลด หรือ ไม่ใช้ ถุงพลาสติก จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้? คำตอบคือ ได้

ต้นเหตุสำคัญคือ ร้อยละ 90 มาจากมนุษย์ สร้างกิจกรรมเผาผลาญเชื้อเพลิง ส่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ – CO2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินความสามารถของโลกที่จะสะท้อนความร้อนจากพื้นโลกออกไปนอกโลกได้ทัน ผลคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศอย่างรุนแรงทั่วโลก ซึ่งล้วนแต่เป็นผลกระทบระดับมหันตภัยทั้งสิ้น เช่น

  • พายุหมุนที่เกิดถี่ และรุนแรงมากขึ้น
  • ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก
  • สภาพอากาศที่แปรปรวน จนยากจะคาดเดา
  • ฤดูกาล และวงจรการเกษตรเปลี่ยนแปลง
  • โรคระบาดใหม่ๆ เป็นต้น

ถุงพลาสติกมีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งถุงพลาสติก 1 ใบ ต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี
หากนำไปเผาก็จะทำให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอน
ซึ่งทำให้เกิดมลภาวะทำให้โลกร้อน และการใช้ถุงผ้าจะช่วยลดการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็ง และหากทุกคนหันมาใช้ถุงผ้าเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้มากกว่า 100 ล้านถุง/ปี

ข้อดีของการใช้ถุงผ้า

  • ซักทำความสะอาดได้โดยง่าย
  • นุ่มสบายมือน่าใช้ และไม่ก่อให้เกิดการกดทับอย่างรุนแรงต่อฝ่ามือเท่าถุงพลาสติก
  • ใช้ง่ายขาดยาก ตกแต่งได้ตามสไตล์ที่ชอบ
  • ย่อยสลายได้ ไม่ตกค้างจนเป็นปัญหาในสิ่งแวดล้อม
  • ทนทานและใช้ซ้ำได้มากครั้งกว่าถุงพลาสติก
  • ช่วยลดปริมาณมูลฝอย ไม่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
  • ช่วยลดปัญหาโลกร้อน
  • บ่งบอกภาวะรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ใช้
  • ใช้ถุงผ้าไปได้ทุกที่ ใส่ได้หลายอย่าง
  • ใช้เป็นสื่อรณรงค์เสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักในสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง
  • ถุงผ้าดิบจะช่วยลดการเกิดและการปนเปื้อนของสารประกอบไดอ๊อกซินที่เป็นสารก่อมะเร็งที่มีอันตรายต่อชีวิต
  • พกพาติดตัวได้ง่าน และติดรถ พร้อมใช้งานในทุกโอกาส
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เริ่มใช้ถุงผ้าตั้งแต่วันนี้ และแบ่งปันถุงผ้าที่มีอยู่แก่ผู้อื่น เพื่อขยายวงกว้างของความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน  จะให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวที่เราทำได้ หรือจะปล่อยให้เป็นเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวที่เราไม่เคยคิดจะทำ คำตอบอยู่ที่ใจคุณ